เดินป่าเขาช้างเผือก
จะมีเหตุผลกี่ข้อ ที่ทำให้เส้นทางเดินป่าแห่งหนึ่งกลายเป็นที่นิยม และถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง
บางปีประกาศปิดเส้นทางห้ามขึ้นเด็ดขาด บางปีเปิดให้จองแค่ช่วงระยะเวลา 1 ถึง 2 เดือน มีการจำกัดจำนวนคนที่แน่นอน มีข้อกำหนด และกติกาที่เคร่งครัด มีสิ่งใดอยู่เบื้องหลังของกฎระเบียบอันแสนยุ่งยากเหล่านี้
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างมุ่งหมายจะพิชิตมัน หลังจากใครก็ตามได้ไปเยือนขุนเขาแห่งนี้มาแล้ว คำถามแรกของผู้ที่ยังไม่เคยไปถึงจุดนั้นที่เขาจะถาม ไม่ใช่เรื่องของการเดินทางต่างๆนาๆ ไม่ใช่เรื่องสภาพอากาศ เป็นข้อสงสัยที่แสนจะเรียบง่ายแต่กลับเป็นขั้นตอนยากที่สุด
”จองได้ยังไง”
…เพราะนี่คือตั๋วใบสำคัญ ที่จะทำให้คุณได้ใกล้ชิดกับ “เขาช้างเผือก”
ย้อนไปหลายปีก่อน เขาช้างเผือก เป็นแค่ยอดเขาโล่งเตียนที่ไม่ค่อยเป็นที่สนใจนัก ถึงขนาดที่ทางอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิต้องเอ่ยปากเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม เนื่องจากแทบไม่มีใครรู้จักสถานที่น้องใหม่แห่งนี้ แต่เมื่อการท่องเที่ยวขยายตัว ป่ากับเมืองขยับเข้าใกล้กันมากขึ้น
ด้วยทิวทัศน์อันงดงาม และเป็นหนึ่งในเส้นทางที่แสนท้าทายของนักเดินป่า ทำให้ เขาช้างเผือก กลายเป็นที่รู้จัก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมของทิวเขาที่ค่อนข้างอันตรายในบางจุด แต่ละปีจึงมีกำหนดการเปิด และปิดที่ไม่แน่นอน ประกอบกับลานกางเต็นท์รองรับนักท่องเที่ยวได้จำกัด ทำให้การมาเยือนสถานที่แห่งนี้ต้องเริ่มต่อคิว และเป็นคิวที่หากพลาดปีนี้ ก็ต้องรอปีหน้ากันเลยทีเดียว จึงเป็นที่มาของคำว่า “จองยากกว่าเดิน”
การจองมาสันคมมีดแห่ง “เขาช้างเผือก”
ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคมของทุกปี ทางอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิจะประกาศเปิดการท่องเที่ยวกิจกรรมการเดินป่าศึกษาธรรมชาติระยะไกลเขาช้างเผือก โดยมีข้อกำหนดต่างๆแนบมากับเอกสาร เช่น จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่เกิน 60 คน ต่อวัน โดยจองได้กลุ่มละไม่เกิน 5 คน
เปิดรับจองตั้งแต่เวลา 08:00 น. ถึงเวลา 16:30 น. ทางโทรศัพท์ โดยต้องทำการจองล่วงหน้า 7 วัน ก่อนวันที่จะไป และจะใช้ระยะเวลาท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืนเท่านั้น
ในส่วนของขั้นตอนการจอง เมื่อทางอุทยานกำหนดวันมาแล้ว นักท่องเที่ยวจะต้องเลือกวันที่กลุ่มตนเองจะไป เช่นจะไปศุกร์ ก็ควรโทรจองในวันศุกร์ก่อนหน้านั้น 1 อาทิตย์
ซึ่งขั้นตอนโทรจองนี่เอง ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของเขาช้างเผือกโดยแท้จริง
เขาช้างเผือก สถานที่ๆต้องใช้ดวงมากกว่าใช้ร่างกาย
โดยก่อนที่ทางอุทยานจะเปิดสายรับการจอง สมาชิกในกลุ่มจะต้องเตรียมข้อมูลส่วนตัวของทุกคน ได้แก่
- ชื่อ – สกุล
- เบอร์โทรศัพท์
- เลขบัตรประจำตัวประชาชนของทุกคนในกลุ่ม
ทางอุทยานจะมีช่องทางการติดต่อทางโทรศัพท์ที่ให้มา 2 เบอร์โทร สมาชิกทุกคนควรช่วยกันโทรจองสลับกันทั้งสองเบอร์ (034-510979 หรือ 098-2520359)
แนะนำให้กดโทรออกตั้งแต่เวลา 07:59 น. หากมีเสียงสัญญาณสายไม่ว่างหรือไม่มีการรับสาย ให้กดวางทันทีแล้วกดโทรใหม่ ทดลองโทรเรื่อยๆ จนกว่าจะมีเจ้าหน้าที่อุทยานรับสาย หากเจ้าหน้าที่บอกว่าวันที่เราจองไว้เต็มแล้ว ให้ปรึกษากับสมาชิกกำหนดวันจองใหม่อีกครั้ง
โดยปกติแล้ว ช่วงวันศุกร์ ถึงวันอาทิตย์ การจองจะเต็มเร็วมาก
หากหลีกเลี่ยงการจองในช่วงวันหยุด เปลี่ยนเป็นวันธรรมดาได้ จะมีโอกาสสูงกว่า
ทั้งนี้แต่ละช่วงเวลาก็ทำให้สภาพแวดล้อมของธรรมชาติเปลี่ยนไป เช่น ช่วงเดือนพฤศจิกายน ป่าเพิ่งหมาดฝน ต้นไม้ใบหญ้ายังระบัดดอกออกช่อ ภูเขาทั้งลูกจะเป็นสีเขียวขจีงามตา ช่วงเดือนนี้จะมีโอกาสพบเจอหมอกมากที่สุด แต่แลกกับสภาพอากาศที่ชื้นแฉะ หรืออาจเจอฝนตกหนัก
ส่วนช่วงเดือนมกราคมเป็นต้นไป สภาพป่าจะเปลี่ยนเป็นทุ่งสีทอง อากาศเริ่มแห้งแล้ง หากโชคดีอาจได้พบกับลมหนาวบ้าง แต่หากโชคร้ายอาจพบเจอกับสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อน แต่เส้นทางเดินป่าจะเดินง่ายกว่าช่วงหน้าฝน
หลังจากโทรไปครั้งที่ร้อย หรือครั้งที่พัน หากโทรติด จะต้องแจ้งชื่อ สกุล เบอร์โทรศัพท์ เลขบัตรประจำตัวประชาชนของทุกคนในกลุ่ม หลังจากนั้นจึงส่งเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไปยังช่องทางอีเมล์ต่อไป เป็นอันสำเร็จการจองที่ขึ้นชื่อว่ายากเย็นที่สุดของเขาทุกลูกในประเทศไทย
การเดินทางไป เดินป่าเขาช้างเผือก
จาก กรุงเทพ > กาญจนบุรี > ทองผาภูมิ > บ้านอีต่อง
ควรเผื่อเวลาค้างคืน 1 คืนในการเตรียมตัว และลงทะเบียนชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ หากเดินทางโดยรถโดยสารไม่ว่าจะเริ่มต้นจากจุดใดให้เลือกปลายทางที่สถานีขนส่งกาญจนบุรี และควรออกเดินทางตั้งแต่เช้า
หลังจากมาถึงกาญจนบุรีแล้ว ให้ต่อรถไปยังตลาดทองผาภูมิ ในเส้นทางนี้หากต้องการความรวดเร็วต้องเลือกใช้บริการรถตู้ แต่ถ้าชอบความเนิบช้าที่ได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศสองฝั่งทางให้เลือกเป็นรสบัสประจำทาง เป็นรถพัดลมที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่ารถหวานเย็น
เมื่อมาถึงตลาดทองผาภูมิแล้ว หากใครต้องการซื้ออาหารสามารถเลือกซื้อได้ที่นี่
จากนั้นจะต้องเดินทางต่อ ให้สังเกตรถสองแถวสีเหลืองที่เขียนข้างรถว่า ทองผาภูมิ อุทยานฯ อีต่อง ชื่อ 3 สถานที่นี้หมายถึงตลาดทองผาภูมิ ไปยังอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และปลายทางที่หมู่บ้านอีต่อง
ถึงจุดนี้จะมีสองทางเลือกคือ
- เราสามารถไปลงทะเบียน ชำระค่าบริการในการขึ้นเขาช้างเผือก และนอนพักค้างคืนที่อุทยาน จากนั้นตอนเช้าจึงอาศัยขอร่วมทางจากเจ้าหน้าที่ หรือนักท่องเที่ยวรายอื่น เพื่อขึ้นมายังหมู่บ้านอีต่อง
- หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือแวะลงทะเบียน ชำระค่าบริการให้เรียบร้อย และเดินทางต่อไปยังหมูบ้านอีต่องเพื่อพักค้างคืนที่นั่นเลยก็ได้
โดยระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังอุทยานจะใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง หากนับรวมไปถึงหมู่บ้านอีต่อง จะใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง
ส่วนใครที่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว หากไม่ได้ออกเดินทางแต่เช้า หรือมาถึงที่ทำการอุทยานในเวลาดึก แนะนำให้มาพักที่อุทยานก่อน 1 คืน
ภายในอุทยานเองก็มีบริการต่างๆอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าสวัสดิการ ร้านอาหาร ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ
จากนั้นในช่วงเช้าจึงไปลงทะเบียนชำระค่าบริการให้เรียบร้อย แล้วขับรถไปยังบ้านอีต่องเพื่อเตรียมตัวขึ้นเขาช้างเผือก รถยนต์ก็สามารถจอดในละแวกนั้นได้เลย
อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ณ จุดเริ่มต้น
เวลาประมาณ 08:00 น. ทุกคนจะมาต้องรวมตัวกันที่บ้านอีต่อง ภายในหมู่บ้านจะมีร้านขายของที่ระลึก ร้านกาแฟ และร้านอาหาร สามารถสั่งทำข้าวห่อไปกินระหว่างทางได้ที่นี่
บนยอดเขาไม่มีไฟฟ้าอาจเป็นเรื่องปกติ แต่การไม่มีแหล่งน้ำเป็นเรื่องสำคัญมาก ทำให้ต้องวางแผนเรื่องการใช้น้ำอย่างรัดกุมที่สุด เพราะต้องแบกขึ้นไปให้พอดีกับปริมาณที่จะใช้
ณ เวลานี้ ทุกคนคงนึกถึงใครไปไม่ได้ นอกจาก คณะลูกหาบ ผู้ช่วยเจ้าถิ่นที่จะทำให้การใช้ชีวิตในป่าของเรานั้นง่ายขึ้นไปอีกมากโข นอกจากน้ำแล้ว สัมภาระกองกลาง และเต็นท์ ก็ควรฝากไปกับลูกหาบ เพราะผู้ช่วยของเราจะถึงบริเวณลานกางเต็นท์ไวมาก พวกเขาจะจองพื้นที่ และกางเต็นท์ไว้ให้เสร็จสรรพ
สิ่งที่ควรคำนึงถึงในลำดับต่อมาคือ อาหาร บนยอดเขามีเพียงลานกางเต็นท์โล่งๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องประกอบอาหารกินเอง โดยเราจะมีมื้อหลักเพียงมื้อเดียว คือช่วงเย็นของวันที่มาถึง และมื้อรองคือช่วงเช้าก่อนกลับ หลายคนเลือกอาหารสำเร็จรูป อาจต้ม หรืออุ่นกินง่ายๆ
แต่อีกหลายคนที่ความสุขคือการได้ทำอาหารกินเอง ก็สามารถนำเตา แก๊สกระป๋อง เครื่องครัวต่างๆ พร้อมกับวัตถุดิบฝากมากับลูกหาบได้เช่นกัน โดยจะมีค่าบริการกิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนใหญ่จะคิดเหมาแบบทั้งไป และกลับในราคาประมาณ 1,500 บาท
จุดเริ่มต้นที่หมู่บ้านอีต่อง
จุดเริ่มต้นของการเดินทางอยู่ที่หลังหมู่บ้านอีต่องนี่เอง ในบริเวณนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจรับนักท่องเที่ยว อาจมีการถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน เพื่อป้องกันผู้ที่ลักลอบขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต
แต่ประตูสู่การ เดินป่าเขาช้างเผือก ที่แท้จริงคือจุดที่เราเดินขึ้นเนินเขามาได้ระยะหนึ่งแล้ว บริเวณนี้จะมีป้อมของเจ้าหน้าที่ป่าไม้สำหรับตรวจรับคนอีกรอบหนึ่งว่าตรงกับจำนวนที่ระบุไว้จากด้านล่างหรือไม่
แม้ข้อเสียคือมีโอกาสน้อยมากที่เราจะได้มาเดินป่าที่นี่ แต่ข้อดีคือหากได้มาแล้ว จะได้รับการดูแลอย่างดี และทั่วถึง เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่เพียงพอต่อนักท่องเที่ยวที่ถูกจำกัดจำนวน
การเดินทางระยะทาง 8 กิโลเมตร
เส้นทางเดินป่าของเขาช้างเผือกมีระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ฟังดูแล้วเหมือนเป็นงานช้างสมชื่อ แต่เส้นทางนั้นกลับเรียบง่าย เนื่องจากเป็นการเดินไต่สันเขา หลายจุดสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบตัว
การได้รับรู้ว่าตนเองมาไกลแค่ไหน ก็เหมือนการปลอบประโลมใจว่าเส้นชัยนั้นใกล้เข้ามาทุกขณะ อุปสรรคเพียงอย่างเดียวของการเดินให้ถึงบริเวณลานกางเต็นท์ คือแสงแดดในช่วงกลางวันที่ไร้ปุยเมฆบดบัง มันอาจแลบเลียผิวให้ไหม้เกรียมได้อย่างง่ายดาย
แต่ธรรมชาติในช่วงปลายปีก็มอบลมหนาวระลอกใหญ่มาเป็นเพื่อนร่วมทาง ทำให้การเดินป่าไม่เหนื่อยล้าจนเกินไป
แสงแดดแห่งทิวเขาฝากตะวันตกของประเทศ
ตลอดเส้นทางแทบไม่เห็นจุดพักที่เจ้าหน้าที่ทำไว้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าขำไม่น้อย เพราะทันทีที่สายตาเหลือบไปเห็นนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นนั่งพักกันอยู่ หรือแม้กระทั่งเห็นร่องรอยการพักของนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นที่ล่วงหน้าไปก่อน แขนขาของเราก็หมดแรงลงเสียอย่างนั้น จนต้องใจอ่อนปลดเป้ และเอนตัวลงทุกครั้งไป
แต่การนั่งเล่นก็ใช่ว่าจะเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เพราะนักท่องเที่ยวบางกลุ่มไม่ได้รู้จักกันมาก่อน การที่ได้แบ่งปันน้ำดื่ม หรือเปิดฉากพูดคุยกัน มันก็กลายเป็นช่วงเวลาที่ได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาอีกคน
จากจุดเริ่มต้น ใช้ระยะเวลาเพียง 3 ถึง 4 ชั่วโมง ขาทั้งสองข้างก็แบกร่างกายและสัมภาระมาถึงบริเวณลานกางเต็นท์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ กั้นระหว่างเส้นทางที่เราเดินมากับจุดชมวิวเขาช้างเผือกที่ตั้งอยู่ด้านหน้า
บททดสอบสุดท้ายก่อนที่เป้จะหลุดจากไหล่ คือการไต่ลงเนินชันๆ อย่างช้าๆ แต่ความหวาดเสียวทุกอย่างตั้งอยู่บนความปลอดภัย จุดที่เสี่ยงทั้งหลายจะมีแนวเชือกให้ยึดจับเพื่อความมั่นคง ใช้เวลาไม่นาน หัวใจที่เต้นไม่เป็นจังหวะของเราลงมาถึงจุดพักแรม
สิ่งที่ทุกคนจะพบเจออันดับแรกคือห้องสี่เหลี่ยมกั้นด้วยไม้ มีประตูแบบหยาบๆจำนวน 2 ห้อง ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ ลักษณะภายในห้องจะเป็นบ่อดินที่ถูกขุดไว้ลึกระดับหนึ่ง ปูทับด้วยไม้กระดานเจาะรูเล็กๆจำลองคล้ายส้วมนั่งยอง ใครที่จะมาปลดทุกข์ต้องหาน้ำ หรือทิชชูเปียกมาเองเทคนิคง่ายๆหากจำเป็นต้องใช้บริการ ให้ใช้น้ำขวดเล็กโดยเจาะรูที่ฝาสำหรับฉีดชำระล้าง และใช้ทิชชู่เปียกสำหรับเช็ดแห้งอีกรอบหนึ่ง
แต่ไม่ต้องกังวลว่าห้องน้ำจะเพียงพอต่อจำนวนคนหรือไม่ หากไม่จำเป็นจริงๆ การใช้ส้วมหลุมคงไม่ใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์นัก เมื่อมาถึงลานกางเต็นท์ใครที่จ้างลูกหาบก็ให้สังเกตเต็นท์ หรือสัมภาระของตนเอง ส่วนใครแบกของมาด้วยตัวเอง ก็สามารถเลือกทำเลกางเต็นท์ได้เลย
บรรยากาศ ณ ลานกางเต็นท์
บริเวณลานกางเต็นท์ในช่วงเวลา 13:00 น. เรียกว่าร้อนระอุก็ไม่เชิง เพราะอากาศบนยอดดอยค่อนข้างหนาว แต่แสงแดดก็ยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างแข็งขัน ประกอบกับบริเวณจุดพักมีต้นไม้เพียงไม่กี่ต้น ทำให้การหลบแดดอาจจะต้องใช้ทาร์ป หรือผ้าใบคลุมกันแดดช่วยไปก่อน
ในช่วงเวลานี้คล้ายกับเวลาพักผ่อนที่จะจัดการธุระส่วนตัว บ้างทำทำอาหารกินอีกมื้อก่อนช่วงเย็น บ้างจับกลุ่มอาบแดดคุยกันอย่างเพลิดเพลิน
ทุกคนกำลังรอเวลา เวลาที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางที่ใครต่อใครเคยกล่าวขานกัน เวลาที่จะต้องเรียกพลังเฮือกสุดท้ายออกมา
เพราะหากสองมือสองเท้านี้ไม่ได้ผ่าน ”สันคมมีด” ก็คงยากที่จะมีเรื่องเล่าว่าไปเดินเขาช้างเผือกมาแล้ว
เมื่อเวลา 15:00 น. จะมีเจ้าหน้าที่อุทยานเดินมาเรียกนักท่องเที่ยวทุกคนให้เตรียมพร้อมไปยังจุดชมวิว อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมก็มีเพียงกระเป๋าใบเล็กๆ ที่จะใส่ขวดน้ำดื่ม เสื้อกันหนาว อุปกรณ์ถ่ายภาพ การแต่งกายควรเป็นชุดเดินป่ารัดกุมเหมือนเดิม ควรมีหมวกกันแดด และถุงมือติดไปด้วย เพราะถุงมือจะเป็นตัวช่วยอย่างดีในการจับเชือกปีนป่าย
เนินเขาลูกแรกที่มองเห็นจากลานกางเต็นท์ เมื่อได้มายืนมองใกล้ๆ ภาพของผืนหญ้าเขียวแซมเหลืองคล้ายว่าตั้งสูงขึ้นไปจรดขอบฟ้าครามอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มนุษย์ตัวเล็กผู้แบกความฝันว่าสักวันจะได้พิชิตขุนเขากำลังไต่ดะขึ้นไปอย่างช้าๆราวกับมดงานที่คลานขึ้นไปตามเนินหญ้าในสนามกอล์ฟ
สันคมมีด จุดพีคของการ เดินป่าเขาช้างเผือก
จากลานกางเต็นท์ถึงปลายทางจุดชมวิวเขาช้างเผือก จะกินระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางสันคมมีดจะมีเจ้าหน้าที่อุทยาน และลูกหาบที่เชี่ยวชาญคอยประคับประคองดูแลตลอด
น่าแปลกใจที่บางคนเลือกก้มหน้า และหันหลังให้กับธรรมชาติ ทั้งที่ก่อนนี้แย่งกันจองเลือดตาแทบกระเด็น แต่เมื่อได้หยุดมองภาพรอบๆตัว ก็ทำให้รู้ว่าใต้ภูเขางามนิ่งงันนี้กลับซ่อนความน่ากลัวที่กรีดแทงหัวใจของคนเราได้อย่างประหลาด
เส้นทางจุดชมวิวจะเป็นภูเขาหัวโล้นที่มีเพียงต้นหญ้าสีเขียวกับทางเดินสีฝุ่น สันเขาบางจุดกว้างประมาณ 5 เมตร แต่บางจุดกว้างเพียง 1 เมตร ลักษณะภูเขาเป็นเนินสูงต่ำสลับกัน แสงแดดเริ่มอ่อนแรงลงแล้ว แต่ระลอกลมหนาวยังคงปะทะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
เป็นเรื่องปกติที่ใครๆก็อยากได้ภาพบรรยากาศดีๆเก็บไว้ แต่ควรกระทำด้วยความไม่ประมาท เช่น ตรวจดูพื้นที่รอบๆว่ามั่นคงเพียงพอ บางจุดอาจเป็นหินซ้อนกัน หรืออาจเป็นเพียงพอหญ้าลื่นๆหลอกตา บางจุดแคบจนอาจต้องคลานต่ำ
เมื่อต้องการยืนถ่ายภาพ ควรลุกขึ้นอย่างช้าๆ ประเมินแรงลมที่มาปะทะร่างกายว่ารับไหวหรือไม่ และเชื่อฟังคำสั่งของเจ้าหน้าที่ทุกประการ เพราะเหนือสิ่งอื่นใด ผู้ที่เฝ้ารอคุณกลับบ้านอาจไม่ได้อยากเห็นเพียงภาพสวยๆ แต่อยากได้ยินคำบอกเล่า และเห็นแววตาของคนที่รักกลับมาอย่างปลอดภัย
ความรู้สึก ณ สันคมมีด
เนินเขาสีเขียวรูปไข่ครึ่งใบ เส้นทางเดินเท้าตรงดิ่งขึ้นสู่ปลายยอด คือเนินเขาสุดท้ายที่ขึ้นไปยังจุดชมวิวยอดเขาช้างเผือก
ช่วงเวลานี้ท้องฟ้ายังคงเปลือยเปล่าไร้ปุยเมฆ ตัดกับสีผืนหญ้ามองไปคล้ายภาพวาด ร่างกายที่กำลังหมดแรงสวนทางกับความรู้สึกที่กำลังเอิบอิ่ม
ภาพฝันของใครหลายคนกลายเป็นภาพจริงที่อยู่ตรงหน้า
บนจุดชมวิวมีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งกำลังกำลังอยู่ในอิริยาบถต่างๆ บ้างถ่ายรูป บ้างนั่งชมวิว บ้างเอนตัวลงนอนซึมซับบรรยากาศ
เชื่อว่าหลายคนชอบที่จะอยู่เพียงลำพัง มีแค่ตัวเองกับธรรมชาติรอบๆเท่านั้น อาจเพราะจะได้รูปสวยๆ หรือต้องการความเงียบสงบ แต่เมื่อลองได้ใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมทาง ได้เห็นรอยยิ้มของคนที่มีหัวใจรักในสิ่งเดียวกัน ได้พูดคุยถึงเส้นทางที่ผ่านมาด้วยกัน มันกลับทำให้รู้สึกว่า ภาพตรงหน้าที่เรากำลังมองอยู่ ควรมีสายตาคู่อื่นได้เห็นมันด้วย
บอกลาสันคมมีด
เวลาประมาณ 17:00 น. เจ้าหน้าที่เริ่มบอกให้นักท่องเที่ยวทยอยเดินกลับไปยังลานกางเต็นท์
เหตุผลจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะไม่ได้ชื่นชมพระอาทิตย์ตกที่ยอดดอยแห่งนี้ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะระยะทางที่เดินมานั้นค่อนข้างไกล และอันตรายพอสมควร แต่ลูกหาบยังคอยดูแลจนกว่านักท่องเที่ยวคนสุดท้ายจะกลับถึงที่พัก
เส้นทางไปและกลับของจุดชมวิวมีเพียงเส้นทางเดียว คือการเดินกลับทางเดิม เมื่อหันหลังให้จุดชมวิว หันหน้าเข้าหาตัวเมืองที่ตั้งอยู่ไกลลิบ บางช่วงเวลาก็เกิดคำถามกับตัวเองเช่นกัน อะไรทำให้เรามาไกลถึงเพียงนี้ ทั้งเดินทาง และเดินเท้าเป็นวันๆ
ธรรมชาติมีมนต์เสน่ห์บางอย่างที่ปลุกความกระหายใคร่รู้ของเรา หรือแท้จริงแล้วป่าเขาลำเนาเถื่อน เพียงต้องการให้มนุษย์ตระหนักรู้ว่า ร่างกายเลือดเนื้อของเรานั้น เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
ได้เวลาทำอาหารเย็น
ข้อดีของการยืนอยู่บนจุดสูงสุด คือได้ช่วงเวลากลางวันเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย ทำให้พอมีเวลาที่จะทำกิจกรรมต่างๆที่จุดพักแรมได้
กลุ่มควันเล็กๆหลายกลุ่มลอยขึ้นเหนือยอดไม้ บริเวณลานกางเต็นท์เริ่มกลับมาคึกคักอีกรอบ แต่ละกลุ่มเริ่มประกอบอาหารมื้อเย็น
อีกหนึ่งข้อดีของอากาศหนาวคือ มันจะช่วยรักษาสภาพของอาหารสดให้คงเดิม อย่างเช่นเนื้อไก่ เนื้อหมู หรือผักต่างๆจะไม่เหี่ยวมากนัก
ส่วนวิธีการเก็บหรือแพ็คมากับเป้ ควรใช้ถุงซิปล็อค อาจห่อไว้สองชั้นเพื่อกันหกเลอะเทอะ ซึ่งในเวลา 1 วัน เนื้อสดเหล่านี้จะไม่เน่าอย่างแน่นอน
เนื่องจากอยู่บนสันเขา ทำให้มีลมปะทะเข้ามาตลอด การประกอบอาหารอาจต้องมีตัวช่วยบ้าง เช่นอุปกรณ์บังไฟ แต่ทั้งนี้ต้องระวังเต็นท์ เสื้อผ้า หรืออุปกรณ์ต่างๆ เพราะบางครั้งลมอาจพัดชิ้นส่วนเหล่านั้นไปโดนเตาไฟ หรือไม่สะเก็ดของไฟก็อาจกระเด็นไปโดนเนื้อผ้าทำให้เสียหายได้
ไม่ว่าจะเดินป่ามากี่ครั้ง หนึ่งในช่วงเวลาที่สนุก และน่าจดจำที่สุด คือได้การล้อมวงนั่งกินข้าวด้วยกัน ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ถูกหยิบยกมาเป็นกระทู้พูดคุยกันอย่างเอร็ดอร่อยไม่แพ้รสชาติกับข้าวที่วางอยู่ตรงหน้า
อ่านเพิ่มเติม สิ่งที่หน้าสนใจสำหรับการใช้ชีวิตในป่า
- ก่อไฟ ตั้งแคมป์อย่างไร ให้ง่ายเหมือนเสกได้
- 5 วัตถุดิบกันตาย พกไว้ทำง่าย เมื่ออยู่ในป่า
- รวมพลคนชอบหม้อ
ค่ำคืน ณ เขาช้างเผือก
ในวันแรกที่เดินขึ้นมายังลานกางเต็นท์ เจ้าหน้าที่เปรยว่าวันนี้ลมแรงที่สุดเท่าที่เคยพบเจอ
และทันทีที่ดวงตะวันสีส้มอ่อนโผล่ขึ้นมาให้เห็นเหนือเขาช้างเผือก มันก็หอบเอาลมหนาวที่แสนเกรี้ยวกราดนี้มาด้วย เต็นท์บางหลังที่มีขนาดค่อนข้างสูงถูกลมพัดโอนเอนแทบจะราบไปกับพื้นดินอย่างง่ายดาย
หลายคนต้องเก็บของกันจ้าละหวั่น เป็นความวุ่นวายปนความสุขที่คิดแล้วแปลกพิกล
เช้านี้เครื่องวัดอุณหภูมิบอกตัวเลขที่ 10 องศาเซลเซียส จะมีอะไรดีไปกว่าการได้ซุกตัวอยู่ในถุงนอนหนาๆใต้ผืนผ้าใบ หลายคนออกมาต้มน้ำ ทำอาหารเล็กๆน้อยๆ การได้จิบชา หรือกาแฟร้อนๆ ในตอนเช้าที่หนาวเหน็บ เป็นความงามของชีวิตที่ยากจะหาได้ในเมืองหลวง
หลังจากจัดการธุระส่วนตัว หลายคนเริ่มเก็บของเตรียมเดินทางกลับ เป็นปกติของการพักแรมแค่ 1 คืน ที่จะต้องเก็บสัมภาระในตอนเช้า เนื่องจากช่วงเดินกลับจะได้ไม่ร้อนมาก ประกอบกับจะต้องจัดการเรื่องสัมภาระ ชำระล้างร่างกาย และเดินทางต่อ ทำให้ต้องเผื่อเวลาในส่วนนี้ไว้ด้วย
เดินทางจากป่าจริงกลับสู่ป่าหิน
ในระหว่างการเดินทางกลับ อย่าลืมแวะที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิอีกครั้ง เพราะเจ้าหน้าที่อุทยานจะมอบประกาศนียบัตรให้กับทุกคนที่ไปเยือนเขาช้างเผือก
มันเป็นใบประกาศที่ย้ำเตือนว่าครั้งหนึ่งเราได้ไปเยือนสถานที่แห่งนี้มาแล้ว ได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่แสนยิ่งใหญ่ ได้พบเจอ และรับประสบการณ์ใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต
แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่ตัวอักษรในแผ่นกระดาษนี้ไม่ได้ระบุเอาไว้ คือการได้เอาชนะกับความเหน็ดเหนื่อย การได้อดทนต่ออุปสรรคต่างๆ และพาร่างกายไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะคงไม่มีการข้ามขุนเขาใด ยิ่งใหญ่เท่ากับการก้าวข้ามหัวใจตัวเอง
เลือกชมสินค้าแคมป์ปิ้งคุณภาพสูงได้ที่ร้านของพวกเราก่อน เดินป่าเขาช้างเผือก